Wednesday, January 23, 2013

มารู้จักกันก่อนว่า STEM CELL คืออะไร










STEM CELL คืออะไร ?


Stem Cell (เซลล์ต้นกำเนิด)

"Stem Cell เป็นสิ่งที่มีศักยภาพสูงสำหรับอนาคตข้างหน้า อาจมีประโยชน์มหาศาลในการนำมาใช้รักษาโรคต่างๆ ปัจจุบันมีการกล่าวถึง เรื่องของ Stem Cell ทางการแพทย์อย่างแพร่หลายและบางส่วนเกิดความเข้าใจผิดคิดว่า Stem Cell เป็นคำตอบสำหรับผู้ป่วยที่หมดหวังเกือบทุกโรค"

ในความเป็นจริงแล้วเทคโนโลยีของการใช้ Stem Cell ในการรักษาโรคทางคลินิกที่นอกเหนือไปจากการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดโลหิต สำหรับโรคทางโลหิตวิทยานั้นยังเป็นงานวิจัย ถึงอย่างไรก็ตามไม่ได้หมายความว่าความหวังในการรักษาโรคอื่นเป็นไปไม่ได้ จึงได้มีการศึกษาวิจัยการประยุกต์ใช้ในการรักษาโรคต่างๆ อย่างมากมาย นับเป็นความก้าวหน้าอีกขั้นหนึ่งของความพยายามของมนุษย์ที่จะเอาชนะโรคบางชนิดที่ได้ชื่อว่าเป็นโรคที่รักษาไม่หาย เช่น โรคธาลัสซีเมีย โรคมะเร็งบางชนิด โรงเบาหวาน หรือโรคจากความเสื่อมต่างๆ เช่น โรคพาร์กินสัน โรคหัวใจบางชนิด ซึ่งจำเป็นที่จะต้องมีความรู้ความเข้าใจเรื่องของ Stem Cell อย่างถูกต้องเสียก่อนจึงจะพัฒนางานวิจัยเพื่อการรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นจริงในที่สุด

Stem Cell คืออะไร?
Stem Cell หรือ เซลล์ต้นกำเนิด คือ Cell ที่มีคุณสมบัติพิเศษ 2 ประการ

1. สามารถเปลี่ยนแปลงลักษณะ (Differentiate) เป็น Cell ชนิดอื่นหรือเนื้อเยื่ออื่นๆ ได้ในสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสม เช่น เปลี่ยนเป็น Cell กล้ามเนื้อหัวใจที่สามารถยืดหดตัวตามจังหวะการเต้นของหัวใจ หรือเปลี่ยนเป็น Cell ตับอ่อนที่ทำหน้าที่สร้าง Insulin ได้ 

2. Self renewal คือ ความสามารถในการแบ่งตัวแล้วยังคงความเป็น Cell ต้นกำเนิดอยู่ได้ เพื่อให้เป็นแหล่งกำเนิด Cell ต้นกำเนิดต่อไป ต่างจาก Cell ธรรมดาทั่วไปซึ่งมีอายุขัยที่ถูกกำหนดไว้และเสื่อมสลายตามวัย (Aging) เมื่อผ่านการแบ่งตัวไประยะหนึ่ง

Stem Cell เริ่มสร้างความฮือฮาและเป็นความหวังในการรักษาโรคที่น่าจับตามอง เมื่อแพทย์ชาวอเมริกัน จากมหาวิทยาลัยวิธคอนซิน ประสบความสำเร็จในการแยก Stem Cell ตัวอ่อนของมนุษย์ (Human Embryonic Stem Cell) มาเพาะเลี้ยงได้ในปี ค.ศ.1988 จึงเกิดเป็นสมมติฐานว่าน่าจะนำ Stem Cell มาเลี้ยงในหลอดทดลอง โดยคาดหวังว่า Cell ต้นกำเนิดนี้จะเปลี่ยนเป็นเซลล์ต่างๆ ทั่วร่างกาย แล้วนำไปซ่อมอวัยวะที่ต้องการเพื่อช่วยต่อชีวิตผู้ป่วยที่เป็นโรคต่างๆ หรือช่วยชะลอความชราได้ และเนื่องจาก Cell ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตเป็นแหล่งที่สามารถเก็บได้ง่าย และมีคุณสมบัติในการพัฒนาไปเป็นเนื้อเยื่อชนิดต่างๆ ข้ามสายพันธุ์ได้ (Stem Cell Plasticity) ทำให้มีการนำ Cell ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตมาใช้ในการรักษาโรคอื่นๆ ที่ไม่ใช่โรคของโลหิตวิทยา การปลูกถ่ายเลือดจากรกและสายสะดือ (Umbilical and blood transplantation) ทำได้สำเร็จเป็นรายแรกของโลก เมื่อปี พ.ศ.2531 โดย Gluckman และคณะเป็นการปลูกถ่ายเพื่อรักษาผู้ป่วยเด็กโรค Faneoni anemia จากนั้นเป็นต้นมามีการปลูกถ่ายเลือดจากสายสะดือแพร่หลายมากขึ้นๆ ในสถาบันการแพทย์ทั่วโลก จนถึงปัจจุบันมีผู้ป่วยรักษาวิธีนี้มากกว่า 2,500 ราย 

สำหรับประเทศไทยมีการปลูกถ่ายเลือดจากสายสะดือเพื่อรักษาโรคธาลัสซีเมีย (Thalassemia major) สำเร็จเป็นรายแรกและเป็นรายแรกของโลกด้วย ในปี พ.ศ.2538 นพ.พีรพล อิสรไกรศีล และคณะที่โรงพยาบาลศิริราช โดยใช้เลือดจากสายสะดือของน้องที่เข้ากันได้ (HLA-identical) และต่อมามีการปลูกถ่ายเลือดจากรกและสายสะดือจากทารกผู้บริจาคที่ไม่ใช่ญาติ (Unrelated down umbilical and blood transplantation) แก่ผู้ป่วยได้สำเร็จเป็นรายแรกของประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ.2545 โดย นพ.ปรีดา วาณิชยเศรษฐกุล และคณะที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เป็นการปลูกถ่ายรักษาผู้ป่วยเด็กโรค Wiskott-Aldnich Syndrome โดยใช้เลือดสายสะดือ (National Cord Blood Bank) จากศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติสภากาชาดไทย

แนวคิดเรื่องการบริจาคและจัดตั้งธนาคารเลือดสายสะดือ เริ่มขึ้นตั้งแต่มีการปลูกถ่ายเลือดจากสายสะดือในมนุษย์ การก่อตั้งธนาคารเลือดสายสะดืออย่างเป็นทางการครั้งแรกในโลกเกิดขึ้นที่ New York Blood Center ในปี พ.ศ.2536 ปัจจุบันมีธนาคารสายสะดือเกิดขึ้นแล้วในหลายๆ ประเทศ ทั้งในทวีปอเมริกา ยุโรป และออสเตรเลีย สำหรับประเทศไทยได้จัดตั้งขึ้นที่ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติสภากาชาดไทย การเตรียมและเก็บเลือดจากสะดืออย่างมีประสิทธิภาพในธนาคารเลือดสายสะดือ จะช่วยส่งเสริมการให้ปลูกถ่ายเลือดสายสะดือทั้ง related และ unrelated donor ประสบผลสำเร็จสูง

สรุปแล้วในปัจจุบันนี้แหล่ง Stem Cell ที่ใช้ในการรักษาโรคที่เป็นมาตรฐาน คือ Stem Cell ที่ได้จากไขกระดูก เลือดจากสายสะดือ และการรักษาจะได้ผลเฉพาะโรคทางโลหิตวิทยาเท่านั้น เช่น มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดต่างๆ โรคไขกระดูกที่สร้างเม็ดเลือดผิดปกติ ธาลัสซีเมีย ไขกระดูกไม่ทำงาน ภูมิคุ้มกันบกพร่อง เป็นต้น 

Stem Cell หรือ เซลล์ต้นกำเนิด เป็นสิ่งที่มีศักยภาพสูงสำหรับอนาคตข้างหน้า อาจมีประโยชน์มหาศาลในการนำมาใช้รักษาโรคต่างๆ เช่น โรคเส้นเลือดหัวใจและเส้นเลือดสมอง ข้อมูลเท่าที่มีอยู่ในปัจจุบันยังนับว่าน้อยมากและยังอยู่ในขั้นทดลองในห้องปฏิบัติการหรือในสัตว์ทดลอง การจะนำมาใช้ในมนุษย์ได้จริงต้องผ่านกระบวนการศึกษาอย่างรอบคอบเป็นระยะเวลายาวนานเพื่อที่จะได้ทราบถึงผลดี ผลเสีย และศึกษากลไกต่างๆ ในการทำงานของ Stem Cell ให้เข้าใจอย่างถ่องแท้เสียก่อนจึงจะนำมารักษาในมนุษย์ได้อย่างเต็มรูปแบบ

จากสถิติข้อมูลจำนวนผู้ป่วยประจำปี พ.ศ.2548 ของกระทรวงสาธารณสุข มีผู้ป่วยโรคทางโลหิตและโรคมะเร็งจำนวนมาก พบว่าอัตราการเสียชีวิตเพราะโรคมะเร็งเม็ดโลหิตขาวมีมากกว่า 1,600 รายต่อปี เทคโนโลยีที่ก้าวหน้าจะทำให้สามารถรักษาโรคทางโลหิตและมะเร็งเม็ดเลือดขาวบางชนิดได้ด้วย รวมทั้งวิธีการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด แต่เซลล์ที่จะนำมาปลูกถ่ายได้ ต้องมีเนื้อเยื่อของเม็ดโลหิตขาวที่ตรงกันระหว่างผู้ให้และผู้ป่วย ซึ่งพบว่าในพี่น้องท้องเดียวกันโอกาสที่จะเข้ากันได้นั้นมีเพียง 1 ใน 10,000 เท่านั้น ดังนั้นจึงมีผู้ป่วยอีกจำนวนมากที่ขาดโอกาสในการรักษาด้วยวิธีดังกล่าว ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติได้รับมอบหมายจากแพทย์สภาให้ดำเนินการ “โครงการรับบริจาคเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตจากผู้บริโภค” (National Stem Cell Donor Registry Program) เพียงแห่งเดียวในประเทศไทย โดยเป็นศูนย์กลางรับลงทะเบียนอาสาสมัครผู้บริจาคเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิต เพื่อเพิ่มโอกาสให้กับผู้ป่วยที่รอคอยความหวังที่จะใช้ชีวิตอยู่อย่างคนปกติทั่วไป



นพ.ดร.นิทัญจน์ อิสรเสนา ณ อยุธยา แห่งศูนย์ Stem Cell โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ มีความเห็นว่า การเก็บรักษา Stem Cell ไว้รักษาตัวเองในอนาคต ไม่ใช่สิ่งจำเป็นโดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าคุณป่วยด้วยโรคที่มาจากกรรมพันธุ์ Stem Cell ของตัวคุณเองจะไม่มีประโยชน์อะไรเลย ทางที่ดีแล้วควรช่วยกันบริจาคเพื่อประโยชน์ส่วนรวมมากกว่า เหมือนกับการบริจาคเลือดที่ทุกคนนำมาใช้ได้ในยามฉุกเฉิน

ที่มา : 
จุลสารเพื่อสุขภาพจากโรงพยาบาลหัวเฉียว ฉบับที่ 1 ปีที่ 14 ประจำเดือนมกราคม –กุมภาพันธ์ 2553 หน้า 2-3 โดย พญ.ประไพศรี วงษ์ศิริ กุมารแพทย์